ปัญหาที่ทีมสนใจ
ปัจจุบันมีผู้บริโภคใช้บริการที่ร้านอาหารเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลาย รวมถึงการรับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของ หรือพื้นผิวต่าง ๆ ที่มีเชื้อไวรัสกระจายอยู่ จากที่กล่าวมาร้านอาหารถือเป็นหนึ่งในสถานที่มีผู้คนหลากหลาย รวมถึงมีการสัมผัสสิ่งของร่วมกันอย่าง “รายการอาหาร” ทำให้จัดอยู่ในสถานที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย รวมไปถึงการที่พนักงานบริการจำเป็นต้องรับออเดอร์จากลูกค้า โดยเดินไปยังโต๊ะของลูกค้า เพื่อรับออเดอร์ ซึ่งถือเป็นการขาดการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) ส่งผลกระทบทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในการใช้บริการ ซึ่งมีผลทำให้มีจำนวนผู้บริโภคที่ลดลง โดยในท้ายที่สุดอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างได้ ซึ่งข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย ล่าสุดวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เวลา 11.30 น. ไม่มีผู้ป่วยใหม่ มียอดผู้ป่วยสะสม 3,162 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศ 0 ราย ผู้ป่วยรายใหม่จาก State Quarantine 4 ราย รักษาหาย 3,040 ราย และเสียชีวิตรวม 58 ราย
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้ที่ใช้บริการและผู้ให้บริการร้านอาหารในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โอกาสในการแก้ปัญหา
ทีมของเราเล็งเห็นความสำคัญของการลดการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน และการเว้นระยะห่างทางกายภาพระหว่างผู้บริโภคและผู้ให้บริการในร้านอาหาร หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้บริโภค ในที่นี้คือ การรับออเดอร์จากผู้บริโภค ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทีมของเราจึงได้นำปัญหานี้มาใช้เป็นโอกาสในการออกแบบวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหาการสัมผัสสิ่งของร่วมกันและการเว้นระยะห่างทางกายภาพ โดยการจัดทำและพัฒนา รายการอาหาร (เเละการสั่งอาหาร) อิเล็กทรอนิกส์ (E-Menu) ในรูปแบบของ Web-Application โดยใช้ชื่อว่า “เมนูหน่อย (Menu Noi)”
ไอเดียในการแก้ปัญหา
ไอเดียการแก้ปัญหา คือ นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านการพัฒนา Web-Application รายการอาหารอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้ชื่อว่า “เมนูหน่อย (Menu Noi)”
โดยสิ่งที่จะต้องทำ คือ
5.1 ลงพื้นที่สำรวจรูปแบบการบริหารจัดการภายในร้านอาหาร หรือสถานประกอบการ
5.2 ศึกษาค้นคว้าผลสำรวจเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีของกลุ่มเป้าหมาย
5.3 ออกเเบบโครงสร้างเเละรูปเเบบการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ (ออกเเบบโครงสร้างของ Web-Applicationเเละรูปเเบบการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ)
5.4 สร้างแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งาน Web-Application ของกลุ่มเป้าหมาย
5.5 นำผลการสำรวจในข้อที่ 1 และ ข้อ 3 มาออกแบบโครงสร้าง Web-Application ให้ตอบโจทย์เเละสามารถใช้งานได้ตามความต้องการ
5.6 ทดสอบการนำระบบไปใช้งานในร้านอาหารหรือสถานประกอบการจริง และสำรวจความคิดเห็นหลังจากการใช้งาน Web-Application พร้อมปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง และนำมาพัฒนาต่อให้ตัว Web-Application ของเราให้สมบูรณ์ที่สุด
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
หากแก้ไขปัญหานี้ได้ทีมเราคิดว่าภาพความสำเร็จจะออกมาเป็นต่อไปนี้
- มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครลดน้อยลง
โดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต และไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันมากนัก - สามารถแบ่งเบาภาระของพนักงานบริการ ลดการใช้พลังงานมนุษย์ และลดการสัมผัสหรือใกล้ชิดกันในระยะน้อยกว่า 1 เมตร ตามมาตราการ การเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing)
- Web-Application สามารถนำไปใช้งานได้จริงในร้านอาหาร หรือสถานประกอบการ และได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้
ทีม: Let a = undefined
ทีมเราก็มีกันอยู่ 5 คน คือ ปริญ,อุ๋มอิ๋ม,ต้อง,ไนซ์ และก็พี่กอตอ ตอนแรกเนี่ยก็มีแค่ 2 คน (อุ๋มอิ๋มเจอโดยบังเอิญ ก็เลยส่งลิ้งค์โครงการไปให้ปริญ) ที่เป็นคนพบกิจกรรมนี้ก่อนเดดไลน์ 3 วัน ช่วงนี้เรายังปิดเทอมอยู่ อืดมาก เปื่อยมากกกกก เลยอยากหาอะไรทำเพื่อเเป็นการปลุก Passion ในตัว เลยไปชวนกลุ่มเพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องที่คล้ายๆกัน หนึ่งในนั้นก็คือ ความคาดหวังที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เราก็เลยชวนกันไปกันมา จาก 2 เป็น 3 จาก 3 เป็น 4 สุดท้ายก็มาลงตัวกันที่ 5 ชีวิตนั่นแหละ
สมาชิก
ปริญ
อุ๋มอิ๋ม
ต้อง
ไนซ์
การ์ตูน
มาเริ่มกันที่ปริญ อายุน้อยที่สุดในทีม แต่ดันมาเรียนห้องเดียวกับคนอื่น(ยกเว้นพี่กอตอ)ได้ซะงั้น เป็นคนที่ถนัดเรื่องการประสานงานเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังชอบและสนใจเขียนโปรแกรม เวลาว่างก็ชอบหาของกิน ต่อมาก็อุ๋มอิ๋ม ชอบทำกราฟิก ต่อหุ่นยนต์และเขียนโปรแกรมได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ถนัดเท่าทำกราฟิกอยู่ดี ตอนนี้ก็มีความสนใจเรื่องโดรนอยู่ ล่าสุดก็เพิ่งไปฝึกบินมา ส่วนต้อง คนนี้ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นเดอะแบกในคาบเขียนโปรแกรมประจำห้อง เขียนโค้ดได้ตลอดเวลาแม้แต่ตอนเดินห้างก็ยังเขียน ชอบฟังเพลงอินดี้ป๊อบ ต่อมาไนซ์ เป็น Network Cloud Lover เรื่องนี้ต้องยกให้เค้าเลย ไนซ์แอบบอกว่าสามารถใช้ชีวิตอยู่ในห้อง Server ได้เป็นวัน ๆ โดยไม่เบื่อเลย อีกทั้งยังพ่วงมาด้วยตำแหน่งช่างภาพใน PSM Photo Club ของโรงเรียนอีกด้วย ไนซ์เป็นหนุ่มหล่อ จิตใจดี รักแมว มาต่อกันที่คนสุดท้าย พี่กอตอ ชอบทำกราฟิก อีกทั้งยังเป็นคนที่จดบันทึกเวลาประชุมกันได้ละเอียดมาก ชอบอบคุกกี้และซื้อสติกเกอร์น่ารักๆ รักน้องหมามากๆ
เป้าหมายของสมาชิก
ปริญอยากเป็นคนเก่งในด้านการเขียนโปรแกรม มีประสบการณ์สามารถประกอบอาชีพได้ การทำโปรเจกต์นี้น่าจะทำให้ได้ประสบการณ์ในการนำมาพัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้นในด้านการเขียนโปรแกรม อุ๋มอิ๋มอยากลองข้ามกำแพงในใจที่ไม่กล้าออกมาทำอะไรที่พบเจอคนเยอะ ๆ การที่เราได้ทำโปรเจกต์นี้น่าจะสามารถทลายกำแพงในใจ และทำให้อุ๋มอิ๋มได้เปิดรับอะไรใหม่ ๆ มุมมองมากมายเข้ามาในชีวิต ต้องอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง และอยากเรียนรู้ Code เพื่อไปใช้ตามความฝันของตัวเองในอนาคตการได้เข้าทำงานในโปรเจกต์นี้ทำให้ได้เรียนรู้ พัฒนา การเขียนโปรแกรม มากขึ้นอีก ไนซ์อยากทำบริษัท StartUp เพื่ออยากให้ต่อยอดจากโปรเจกต์ที่เราทำขึ้นนี้ แล้วอยากให้โปรเจกต์ชี้นนี้เกิดขึ้นมาจริง 🙂 เพื่อจะให้คนอื่น ๆ ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสด พี่กอตอ ส่วนตัวเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางด้านต่าง ๆ ทั้งการทำงานรวมกับผู้อื่น การออกแบบ พัฒาความสามารถของตัวเองเพื่อนำไปใช้ในอนาคต รวมถึงอยากจะเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมให้สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพดีมากยิ่งขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมาใช้
การสนับสนุนที่ต้องการ
อาสาสมัคร
เราต้องการอาสาสมัคร 2 กลุ่มเพื่อช่วยในการพัฒนา Web-Application “เมนูหน่อย(Menu Noi)” ได้แก่
1.อาสาสมัคร ด้านเทคนิค (เน้นการพัฒนา Web-Application)
ลักษณะการทำงาน
1.1 ช่วยพัฒนา Web-Application ในด้านการออกแบบ และวิเคราะห์โครงสร้างระบบ หรือ
1.2 ช่วยพัฒนา Web-Application ในด้านการตกแต่งเว็บไซต์ เช่น การออกแบบ UI/UX การออกแบบภาพกราฟิก เป็นต้น หรือ
1.3 ช่วยพัฒนา Web-Application โดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ เช่น HTML , CSS , JAVASCRIPT , PHP และอื่นๆ (ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกภาษา รู้ภาษาใดภาษาหนึ่งเราก็โอเค)
2.อาสาสมัคร ด้านสนับสนุนการพัฒนาระบบ
ลักษณะการทำงาน
2.1 ลงสำรวจพื้นที่ ลักษณะการทำงานของร้านอาหาร โดยเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าและพนักงานในร้านอาหาร และสวมบทบาทตนเองให้เป็นลูกค้าที่จะเข้ามารับประทานอาหาร ตั้งแต่เดินเข้ามา เรียกพนักงาน สั่งอาหาร จนกระทั่งเดินออกจากร้านว่าเรามีพฤติกรรมยังไงบ้าง เพื่อนำมาข้อมูลมาออกแบบ และพัฒนาระบบให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด
2.2 นำระบบที่ได้รับการพัฒนาในระดับที่สมบูรณ์ไปทดลองใช้งานจริงในร้านอาหาร เพื่อนำผลลัพธ์และข้อเสนอแนะกลับมาวิเคราะห์และพัฒนาระบบต่อไป
เงินบริจาค
พวกเราต้องการเงินทุนทั้งหมดประมาณ 3,000 บาท โดยนำไปใช้ดังนี้
1.ค่าเดินทางไปสำรวจตามร้านอาหาร เพื่อนำมาพัฒนา Web-Application ของเรา 1,500 บาท
2.ค่าเช่า Hosting และ Domain Name เอาไว้ทดสอบกับ Web-Application ของเรา 1,500 บาท
พวกเราคาดหวังที่จะได้พัฒนา Web-Application ที่มีชื่อว่า “เมนูหน่อย (Menu Noi)” ที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน และอำนวยความสะดวกในวิถีชีวิตแบบ New Normal และเห็นคนใช้งาน Web-Application ของพวกเรา 🙂