ปัญหาที่ทีมสนใจ
รูปแบบการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กเล็ก คือ Learn and Play เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่จากสถานการณ์ของ covid-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเรียนแบบออนไลน์ผ่านหน้าจอและการเรียนที่โรงเรียนแบบเว้นระยะห่างแทน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กเล็กที่จำเป็นต้องพึ่งพาการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงขาดแรงจูงใจในการเรียน ซึ่งศูนย์เด็กเล็กตำบลเนินทราย เป็นหนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก
กลุ่มเป้าหมาย
บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กระดับชั้นปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นต้น ที่ศูนย์เด็กเล็กตำบลเนินทราย จังหวัดตราด
(เด็กระดับชั้นปฐมวัย คือ เด็กที่มีอายุระหว่าง 3-6 ปี ซึ่งในที่นี้จะใช้คำว่า “เด็กเล็ก” แทนคำดังกล่าว)
โอกาสในการแก้ปัญหา
จากสถานการณ์ Covid-19 ทีมของเราใช้ช่องว่างของการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเด็กเล็กแบบเดิมมาเป็นโอกาสในการแก้ปัญหาเนื่องจากทีมเรามองว่าการเรียนรู้ของเด็กนั่นได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และเรามองว่าพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กสำคัญที่สุด เราจึงออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการออกแบบแบบจำลองและกระบวนการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยที่เรากำหนดไว้โดยเราจะมองไปที่ตัวหลักสูตรแกนกลางของหลักสูตรปฐมวัยควบคู่ไปด้วย
ไอเดียในการแก้ปัญหา
1. สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กเล็กที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ covid-19 จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
2. รวบรวมและนำข้อมูลทั้งหมดมาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบแบบจำลองโรงเรียนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็กเล็กท่ามกลางสถานการณ์ covid-19 ที่สามารถเสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเด็กเล็กได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องถูกชะงักและขัดขวางจากอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ covid-19
3. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและออกแบบแบบจำลองนั้นจะประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก คือ
โรงเรียน: ต้องมีการจัดการที่ปลอดภัยและไม่ขัดขวางต่อการเรียนรู้ของเด็กเล็ก
ครู: เป็นตัวกลางสำคัญที่จะต้องทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน คือ เอื้อการเรียนรู้ของเด็กเล็กควบคู่กับการทำให้เด็กเล็กเห็นถึงความสำคัญของการดูแลตนเอง ถือเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการศึกษาและการใช้ชีวิตภายใต้การปรับตัวในยุค covid-19
ผู้ปกครอง: ต้องส่งเสริมและต่อยอดสิ่งที่เด็กเล็กได้รับมาจากโรงเรียนทั้งด้านการศึกษาและการใช้ชีวิตประจำวัน (การเรียนและการปรับตัวภายใต้สถานการณ์โควิด) ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับโรงเรียน เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนต่อเด็กเล็ก
กระบวนการเรียนรู้: ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กเล็ก โดยมีแนวทางที่คำนึงถึงความสอดคล้องกันระหว่างพัฒนาการของเด็กเล็ก รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กเล็ก ตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางระดับชั้นปฐมวัย และการปรับตัวภายใต้สถานการณ์ covid-19
4. ส่งต่อแบบจำลองที่ออกแบบให้กับโรงเรียนเพื่อทดลองปฏิบัติจริงเป็นระยะ 1 เทอมการศึกษา ซึ่งทีมของพวกเราจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ผู้สังเกตการณ์ และดำเนินการตามแผนที่ออกแบบไว้ร่วมกับทางโรงเรียน จะมีการประเมินผลทุกๆ 1 เดือน โดยคุณครูจะเป็นผู้ประเมินด้านวิชาการและการเรียนรู้ของนักเรียนหลังจากนำแบบจำลองมาปรับใช้ หากมีข้อผิดพลาดหรือปัญหาเกิดขึ้น ทางทีมและโรงเรียนจะระดมความคิดเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
วิธีการวัดผลลัพธ์จะมาจากแบบสรุปผลการประเมินทุกหนึ่งเดือนและภาพรวมหลังครบหนึ่งเทอมการศึกษา ของแบบจำลองโรงเรียนหลังจากนำไปทดลองปฏิบัติจริง ซึ่งแบบประเมินดังกล่าวจะมีทั้งหมด 2 ชุด คือ สำหรับคุณครู โดยจะเป็นการประเมินด้านวิชาการและด้านการเรียนรู้ของเด็กที่เกิดขึ้นจริง และสำหรับทีมทำงาน โดยจะเป็นการประเมินความสอดคล้องระหว่างผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็กเล็กจากการประเมินของคุณครูและวัตถุประสงค์ย่อยของแต่ละองค์ประกอบของแบบจำลองที่สร้างขึ้น จากนั้นจึงประเมินความสอดคล้องของผลการประเมินข้างต้นที่ได้กับวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
ทีม: M A N K (มั่ง)
สมาชิกทีม M A N K (มั่ง) มีทั้งหมด 4 คน คือ ไหมแพร แอ๋ม นน และก้อยใจ ซึ่งไหมแพร นน และก้อยใจเป็นกลุ่มเพื่อนที่มาจากคณะเดียวกันและเคยทำงานร่วมกันผ่าน ส่วนแอ๋มเป็นเพื่อนของนนและก้อยใจจากที่ฝึกงาน ทำให้รู้จักแนวคิดและแนวทางการทำงานของแต่ละคน สาเหตุที่ทำให้รวมทีมกันขึ้นมาครั้งนี้ คือ ทั้งสี่คนสนใจเกี่ยวกับด้านการศึกษาและการทำงานเพื่อสังคมเหมือนกัน และเห็นว่าสถานการณ์ COVID-19 เป็นปัญหาที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน หนึ่งส่วนสำคัญที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19 ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ ทีมของเราเล็งเห็นว่าเด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่ต้องพึ่งพาผู้คนรอบข้างในการสร้างการเรียนรู้อยู่จึงคิดว่าเป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้จากสถานการณ์ดังกล่าว
สมาชิก
ก้อยใจ
แอ๋ม
ไหมแพร
นน
การสำรวจข้อมูลจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ นนและแอ๋มจะทำหน้าที่สำรวจข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนก้อยและไหมแพรจะทำหน้าที่สำรวจข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การทำวิดีโอจะจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ก้อยใจและแอ๋มจะทำหน้าที่เรียบเรียงเนื้อหาและเขียน Storyboard ส่วนไหมแพรและนนจะทำหน้าที่ตัดต่อวิดีโอและโปสเตอร์ ในการระดมความคิด พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสนอไอเดียจะเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งทีม ไม่มีหัวหน้าทีมที่ชัดเจน เนื่องจากจะผลัดกันเป็นผู้นำในเรื่องที่แต่ละคนถนัดและเน้นการตัดสินใจร่วมกัน ก้อยใจจะทำหน้าที่ประสานงานทั้งภายในและภายนอกเป็นหลัก จะสามารถจัดการและย่อยข้อมูลจำนวนมากได้ดี นนจะถนัดการเสนอไอเดียและมีทักษะด้านไอที แอ๋มจะมีทักษะการเข้าสังคมและพูดคุยกับผู้คน สามารถทำงานกับผู้คนได้หลากหลาย ส่วนไหมแพรสนใจการทำงานกับเด็กเล็กและการเรียนรู้ของเด็กเล็ก
เป้าหมายของสมาชิก
นน: สนใจการทำงานด้านสังคมและด้านการศึกษา เลยอยากใช้ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นลงมือทำ อยากเก็บประสบการณ์ทำงานด้านนี้เผื่อว่าสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้
ก้อยใจ: เรียนจบมาด้านการเรียนรู้ของมนุษย์และการศึกษา จึงอยากหาประสบการณ์การทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ได้เรียนมา และอยากนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเรียนมาสร้างการเปลี่ยนแปลงกับประเด็นต่างๆ ภายในสังคม รวมถึงพัฒนาทักษะและศักยภาพของตนเองผ่านการทำงานในด้านนี้ ซึ่งคาดหวังว่าประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการนี้จะสามารถนำมาต่อยอดโปรเจกต์ของตนเองที่ตั้งใจจะทำในอนาคตได้
แอ๋ม: อยากหาอะไรที่สร้างสรรค์ทำเพื่อต่อยอดจากสิ่งที่เรียนมาประจวบกับเรียนจบช่วงโควิดพอดีเลยเจอปัญหาพอดีมีเพื่อนชวนมาร่วมกิจกรรมเลยเข้าร่วมทำกับเพื่อนคิดโปรเจกต์ขึ้นมาและก็หวังว่าโปรเจกต์ที่ทำจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายหรืออาจจะสามารถแก้ไขไปปรับใช้กับกลุ่มอื่นๆในสังคมได้ด้วย
ไหมแพร: ส่วนตัวมีความสนใจในด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และกำลังหาประสบการณ์เกี่ยวกับด้านนี้ ประจวบกับมีเพื่อนมาชวนทำโปรเจคนี้พอดีจึงอยากที่จะนำประสบการณ์และความรู้ที่มีในด้านนี้มาพัฒนาและต่อยอด
การสนับสนุนที่ต้องการ
อาสาสมัคร
อาสาสมัครที่ต้องการให้เข้ามาช่วยในช่วงการคิดและออกแบบแบบจำลอง
1. บุคคลที่เคยทำงานกับเด็กระดับชั้นปฐมวัย จำนวน 1 คน
2. บุคคลที่ชำนาญเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางระดับชั้นปฐมวัย 1 คน
3. บุคคลที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและกราฟิก 1 คน
4. บุคคลที่ชำนาญด้านการวัดและประเมินเพื่อช่อยออกแบบเครื่องมือวัดด้านวิชาการและการเรียนรู้ของเด็กเล็กระดับปฐมวัย 1 คน
อาสาสมัครที่ต้องการให้เข้ามาช่วยในช่วงนำแบบจำลองเข้าไปใช้ในศูนย์เด็กเล็ก
1. ผู้ช่วยสังเกตการณ์สำหรับนำข้อมูลมาใช้ในการประเมินกระบวนการเรียนรู้ จำนวน 2 คน
เงินบริจาค
ต้องการระดมทุนจำนวน 5,000 บาท แบ่งนำไปใช้ในแต่ละส่วน ดังนี้
1. ค่าอุปกรณ์เสริมพัฒนาการ 3,000 บาท เป็นส่วนที่จะนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมจากแบบจำลองที่ออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว
2. ค่าเดินทาง 1,500 บาท สำหรับใช้ในการเดินทางไปลงพื้นที่ที่จะเข้าไปทำงานด้วย ซึ่งคือ ศูนย์เด็กเล็ก ตำบลเนินทราย จังหวัดตราด
3. ค่าจัดทำเอกสาร 500 บาท เป็นส่วนของการจัดทำเอกสารสำคัญต่าง ๆ ของโครงการ และการจัดทำรูปเล่มของแบบจำลองสำหรับให้ทางโรงเรียน เก็บไว้เป็นแนวทางได้
การสนับสนุน
อาสาสมัคร
เงินบริจาค
การอัปเดตโปรเจกต์ ครั้งที่ 1
อธิบายผ่านการเล่าเรื่องถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา
มีการประชุมอพเดตช่วงเวลาที่ว่างตรงกันของสมาชิกภายในทีม และตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการประสานงาน ซึ่งได้ทำการอัพเดตกิจกรรมและการดำเนินงานไปทั้งหมด 2 ครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงรอรายละเอียดการจัดการเรียนการสอนจากทางโรงเรียนอยู่
ผลลัพธ์จากกิจกรรม
โรงเรียนให้การตอบรับและสมาชิกภายในทีมกำหนดช่วงเวลาที่จะทำงานร่วมกันได้
อุปสรรคและความท้าทายที่พบระหว่างทำกิจกรรม
สมาชิกภายในทีมเวลาว่างไม่ค่อยตรงกันและมีงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงอยู่คนละจังหวัด ทำให้ไม่ค่อยว่างประชุมร่วมกัน และเร็ว ๆ นี้จะเพื่อนหนึ่งคนที่จะต้องไปทำงานประจำเชียง ซึ่งอาจจะทำให้ต้องลดระยะเวลาการทำงานลงมา
แนวทางการดำเนินโครงการต่อในเดือนถัดไป
ตกลงเรื่องระยะเวลาการทำงานร่วมกันใหม่ ลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาและพัฒนาการของเด็ก ออกแบบกิจกรรมที่จะให้ทางโรงเียนนำไปใช้ประกอบการสอน